คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เร่งพิจารณาร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับ เสนอนายกลงนาม

  • คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ตั้งคณะอนุกรรมการเร่งพิจารณาร่างกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ การห้ามขายเหล้าปั่น การกำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม และฉลากบรรจุภัณฑ์ เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมาย หากเห็นชอบพร้อมเสนอนายกลงประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

    วันนี้ (23 ธันวาคม 2552) ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2552 ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวิธีการหรือลักษณะในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2552 ซึ่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบของการนำมาผสมในน้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำที่มีกลิ่นผลไม้ หรือสิ่งอื่นใดแล้วนำมาปั่นรวมกัน เช่น เหล้าปั่น ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นและมีขายอย่างแพร่หลาย ตามร้านข้างถนน รอบๆ สถานศึกษา หรือรถเข็นตามตลาดนัด ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยยกเว้นให้ขายได้ในสถานบริการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    ร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 และนำเข้าขอคำแนะนำจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนาม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากฝ่าฝืนลักลอบขายจะมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    ฉบับที่ 2 ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2552 กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่อยู่ห่างไม่เกิน 500 เมตร จากรั้วหรือแนวเขตสถานศึกษาตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไป โดยยกเว้นให้ขายได้ในสถานที่ที่ได้รับการผ่อนผัน และโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ รวมถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปได้จนกว่าใบอนุญาตจะหมดอายุ หากคณะกรรมการเห็นชอบจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามและมีผลบังคับใช้ 180 วัน นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    ฉบับที่ 3 ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยห้ามดื่มในสถานที่หรือบริเวณหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ และภายในหรือบนยานพาหนะทางบกที่อยู่ในที่หรือทางสาธารณะ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หากที่ประชุมเห็นชอบจะเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้วันถัดไป
    ฉบับที่ 4 ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยฉลากข้อความคำเตือนพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้า ซึ่งกำหนดให้ภาชนะบรรจุที่มีลักษณะเป็นขวด ต้องมีปริมาณสุทธิไม่น้อยกว่า 250 มิลลิลิตร ส่วนภาชนะที่เป็นกระป๋อง ไห ถุงหรือรูปแบบอื่นๆปริมาณบรรจุไม่น้อยกว่า 300 มิลลิลิตร

    โดยฉลากที่ติดข้างภาชนะหรือกล่องบรรจุ จะต้องไม่มีข้อความที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่า เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพ มีระดับสารอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป หรือมีลักษณะเป็นการโฆษณาทั้งโดยตรงหรืออ้อม และให้พิมพ์ข้อความว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามจำหน่ายแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท” เป็นภาษาไทย ตัวอักษรสีขาวบนแถบสีดำเข้ม ขนาดตัวอักษรใหญ่ไม่น้อยกว่า 20 พอยต์ อ่านง่าย และมองเห็นชัดเจน ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552

    นอกจากนี้ ยังกำหนดให้จัดพิมพ์ภาพคำเตือนโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ที่ฉลากติดข้างภาชนะและหีบห่อบรรจุ เป็นรูปภาพ 4 สี 6 แบบ เช่นเดียวกับการเตือนภัยอันตรายของบุหรี่ อาทิ ดื่มสุราทำให้เป็นโรคตับแข็ง ดื่มสุราแล้วขับขี่ทำให้พิการและตายได้ ดื่มสุราทำให้ขาดสติและเสียชีวิตได้ ดื่มสุราทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ดื่มสุราทำร้ายตัวเอง ทำลายลูกและครอบครัว ดื่มสุราเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น โดยให้พิมพ์ 1 แบบต่อ 1,000 ขวด/กระป๋อง/กล่อง

    ทั้งนี้ ที่ประชุมจะตั้งคณะอนุกรรมการ เร่งศึกษาถึงผลกระทบของร่างประกาศทั้ง 4 ฉบับ เพื่อไม่ให้ขัดกับข้อกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้อง หากผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะนำเสนอผู้มีอำนาจลงนาม เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้ต่อไป โดยขณะที่ยังไม่มีการประกาศใช้ประกาศทั้ง 4 ฉบับ ได้แต่ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดูแลและปราบปรามให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ โดยมี พลตำรวจเอกปานศิริ ประภาวัตร์ รองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธาน

    จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในช่วง 11 ปี (พ.ศ.2539-2550) เยาวชนอายุ 15-19 ปี มีอัตราการดื่มประจำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านอบายมุขมากมาย และจากข้อมูลทางวิชาการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนร้านเหล้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59 โดยในรัศมี 500 เมตรรอบมหาวิทยาลัยมีร้านเหล้าเฉลี่ยถึง 57 ร้าน ที่น่าเป็นห่วงมากคือโรงเรียนประถมหรือมัธยมมีร้านเหล้าตั้งอยู่ในรัศมี 100 เมตรถึงร้อยละ 73

    ************************** 23 ธันวาคม 2552









  • แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ

    [23/ธ.ค/2552]